นิทรรศการสืบสร้างสุข
ดาวน์โหลด เอกสารประกอบ-โรงเรียนธัญรัตน์.pdf
Health Detective
ใครจะรู้ว่าพฤติกรรมที่เราทำกันอยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวัน อาจนำไปสู่โรค NCDs (non-communicable diseases) หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ขอเชิญทุกคนมาเป็น ‘นักสืบฝึกหัด’ ร่วมสืบหาความจริงใน 7 คดี ที่มีคน 8 คนหายตัวไป ว่าพวกเขาเหล่านั้นหายตัวไปด้วยโรค NCDs หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโรคใดบ้าง โดยแกะรอยจากเบาะแสในที่เกิดเหตุ ผสมผสานไปกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกขั้นตอนของกิจกรรม ซึ่งจะทำให้ทุก ๆ คนได้รับทั้งความรู้และความสนุกสนานตลอดทั้งนิทรรศการอย่างแน่นอน!
นิทรรศการ “สืบ-สร้าง-สุข” (Health Detective) จากศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เป็นนิทรรศการแนวภารกิจพิชิตสุขภาวะ ที่ผู้เข้าชมจะได้สวมบทบาทนักสืบฝึกหัด เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรลับของ สสส. ในการทำภารกิจสืบคดีคนหาย 8 คน ใน 7 คดี จากโรค NCDs หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
“สืบ” สังเกต ค้นหา สาเหตุแห่งการสูญเสียในเจ็ดคดีปริศนา
“สร้าง” แรงบันดาลใจ ตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
“สุข” ภาวะที่ดี เริ่มได้ที่ตัวเรา
เหล่านักสืบฝึกหัดจะต้องทำภารกิจสืบสวนกันว่า บุคคลที่หายไปในแต่ละคดีนั้น หายตัวไปเพราะโรคใดในกลุ่มโรค NCDs และเราจะสามารถป้องกัน หรือแก้ไขการเกิดโรคเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง โดยเหล่านักสืบฝึกหัดจะต้องผ่านเข้าไปยังแต่ละโซนในนิทรรศการ ดังนี้
โซนที่ 1 นิทรรศการสุขภาวะ เริ่มต้นภารกิจองค์กรลับ “สืบ-สร้าง-สุข” เพื่อค้นหาร่องรอยการหายตัวไปของบุคคลทั้ง 8 ผ่าน 7 คดีปริศนา
โซนที่ 2 องค์กรลับสืบสร้างสุข จุดลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนของเหล่านักสืบฝึกหัดพร้อมรับอุปกรณ์ในการสืบหาร่องรอยของคดีต่าง ๆ
โซนที่ 3 ห้องเบาะแส เข้ารับฟังข้อมูลและเบาะแสของคดีต่าง ๆ จาก The Boss หัวหน้าองค์กรลับ ซึ่งปริศนาเหล่านี้จะถูกคลี่คลายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการสังเกต และการวิเคราะห์ ของเหล่านักสืบฝึกหัด
โซนที่ 4 สถานที่เกิดเหตุ เริ่มภารกิจสืบสวนจากสถานที่เกิดเหตุทั้ง 7 คดี โดยแต่ละคดีจะมีเวลาให้นักสืบสังเกตพยานแวดล้อม ทั้งพยานวัตถุและพยานบุคคล และนำข้อมูลที่พบเห็นเก็บบันทึกลงไปยังแฟ้มคดี
โซนที่ 5 ฐานบัญชาการ สรุปการสืบสวนสาเหตุที่แท้จริงของการหายตัวไปของบุคคลทั้ง 8 ใน 7 คดีปริศนา ที่มีสาเหตุจากปัญหาสุขภาวะ ที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs
โซนที่ 6 ศูนย์ปฏิบัติการสืบสร้างสุข เหล่านักสืบฝึกหัดยังมีภารกิจในการฝึกฝน และเรียนรู้วิธีเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผ่าน 7 ภารกิจเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี
โซนที่ 7 นักสืบรุ่นพี่ ค้นพบวิธีการของเหล่านักสืบรุ่นพี่ผ่านการเล่าเรื่อง ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะ และห่างไกลโรค NCDs
โซนที่ 8 จบหลักสูตร เสร็จสิ้นภารกิจของเหล่านักสืบฝึกหัด คุณได้เป็นนักสืบสร้างสุขเต็มตัวที่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้กับตัวเอง และคนรอบข้างได้
เหล่านักสืบฝึกหัดจะสนุกสนานไปกับการไขคดีปริศนาไปพร้อม ๆ กับการได้รับความรู้เกี่ยวกับโรค NCDs ตลอดระยะเวลา 95 นาทีในนิทรรศการสืบ-สร้าง-สุข เพราะนิทรรศการถูกออกแบบขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผูกโยงกับการให้ความรู้อย่างไม่น่าเบื่อ เช่น
- ไฟฉายนักสืบ ที่เราจะเป็นอาวุธหลักของเราในการเข้าร่วม หรือไขปริศนาในแต่ละโซน
- การใช้ไฟ Blacklight และไฟฉายในการส่องหาเบาะแสการหายตัวไปของบุคคลทั้ง 8
- โซนสแกนรอยยิ้มเพื่อวัดระดับความสุขของเหล่านักสืบ
- โซนเลเซอร์ที่เหล่านักสืบฝึกหัดต้องหลบแสงเลเซอร์ เพื่อให้ผ่านด่านไปได้
เตรียมตัวก่อนเป็นนักสืบง่าย ๆ
1. นิทรรศการสืบสร้างสุขจำกัดผู้เข้าชมรอบละ 10 คน ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนจองรอบเข้าชม นิทรรศการ สืบ-สร้าง-สุขล่วงหน้าที่
- แบบลงทะเบียนสำหรับประชาชนทั่วไป
https://forms.gle/RJw42HiguiBLQ2tV6 - แบบลงทะเบียนสำหรับหน่วยงาน/สถานศึกษา
https://forms.gle/ScTCoi7D1bxCKrmb8
2. ก่อนเข้าใช้บริการต้องลงทะเบียน และวัดอุณหภูมิ
3. เหล่านักสืบทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ทำภารกิจ สืบ-สร้าง-สุข
4. รักษาระยะห่าง (Social Distancing) อย่างระมัดระวัง
5. นิทรรศการ สืบ- สร้าง-สุข เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป, คณะนักเรียน นักศึกษา, ครอบครัว เด็กสนุกได้ ผู้ใหญ่ก็เพลิดเพลิน
ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ นักเรียน นักศึกษา รับรองว่าเวลา 95 นาทีที่นิทรรศการ สืบ-สร้าง-สุข จะให้อะไรคุณได้มากกว่าที่คิดอย่างแน่นอน
นิทรรศการสืบ สร้าง สุข ตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 99/8 ซอยงามดูพลี ถนนพระรามสี่ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120